ซิลิโคนเสริมหน้าอก เป็นวัสดุทางการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากสำหรับการศัลยกรรมเพิ่มขนาดหน้าอกให้ใหญ่ขึ้นพร้อมปรับรูปทรงและสัดส่วนของเต้านมให้ดูสวยงามรับเข้ากับสรีระร่างกาย ช่วยแก้ไขปัญหาหน้าอกเล็ก หน้าอกหย่อนคล้อยได้อย่างตรงจุดและคงผลลัพธ์ได้ยาวนาน อย่างไรก็ตามมีผู้เข้ารับบริการจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าควรเลือกซิลิโคนเสริมหน้าอกอย่างไรให้ดูดี เลือกซิลิโคนเสริมหน้าอกอย่างไรให้เหมาะสมกับสรีระลำตัว ทำให้เมื่อเสริมหน้าอกไปแล้วไม่ได้ผลลัพธ์เหมือนที่ต้องการจนต้องเสียเงิน เสียเวลาเข้ามาผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนซิลิโคนใหม่อีกครั้ง
เพื่อให้คนไข้มีข้อมูลเพียงพอสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน บทความนี้หมอได้รวบรวมเอาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาเลือกซิลิโคนเสริมหน้าอกโดยเฉพาะในเคสที่เสริมหน้าอกร่วมกับการยกกระชับ การเลือกขนาดซิลิโคนเสริมหน้าอกให้เหมาะสม รวมไปจนถึงข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนซิลิโคนเสริมหน้าอกหลังจากที่เสริมหน้าอกไปแล้วเพื่อให้ได้ผลลัพธ์หลังการรักษาที่น่าพึงพอใจ หน้าอกสวยงามดูเป็นธรรมชาติ มีความปลอดภัยและช่วยป้องกันการเกิดภาวะข้างเคียงหลังการเสริมหน้าอกได้ในระยะยาว
ปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนเลือกซิลิโคนเสริมหน้าอกพร้อมยกกระชับ

หัวใจสำคัญของการการสร้างหน้าอกใหม่ให้มีขนาดและรูปทรงที่สวยงามไม่ใช่แค่เพียงการเลือกซิลิโคนเสริมหน้าอกขนาดใหญ่ หรือมีปริมาณซีซี (cc) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เป็นการเลือกใช้ซิลิโคนเสริมหน้าอกที่ช่วยแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ให้ดีขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและดูสวยเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะในเคสของการเสริมหน้าอกร่วมกับการยกกระชับที่ต้องให้ความใส่ใจเกี่ยวกับการเลือกขนาดและรูปทรงของซิลิโคนมากเป็นพิเศษ ซิลิโคนเสริมหน้าอกที่ใช้จะต้องไม่มีขนาดใหญ่มากจนทำให้ยกกระชับ ปรับตำแหน่งหัวนมได้ยาก และในขณะเดียวกันก็จะต้องไม่เล็กมากจนไม่มีเนินด้านบน หน้าอกดูไม่สวยงาม ทั้งนี้สามารถแบ่งปัจจัยสำคัญสำหรับการเลือกซิลิโคนเสริมหน้าอกออกเป็น 3 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่
รูปทรงของซิลิโคน
รูปทรงซิลิโคนเสริมหน้าอกที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมี 2 รูปแบบ ได้แก่ ซิลิโคนทรงกลมและซิลิโคนทรงหยดน้ำ โดยทรงหยดน้ำจะทำให้หน้าอกที่เสริมออกมาดูเป็นธรรมชาติ ช่วงเนินหน้าอกน้อยและด้านล่างดูป่องกว่าเหมาะกับคนที่ไม่มีหน้าอกเลย แต่ในกรณีที่ต้องการเสริมหน้าอกพร้อมยกกระชับเพื่อแก้ปัญหาอกหย่อนคล้อยซึ่งโดยส่วนใหญ่จะขาดเนินด้านบนและด้านล่างป่องอยู่แล้วจึงไม่เหมาะกับซิลิโคนทรงหยดน้ำแต่เหมาะกับทรงกลมมากกว่าเพราะช่วยเติมเนินหน้าอกให้เต็มสวยโดยไม่ทำให้เนื้อนมด้านล่างป่องมากขึ้น และยังช่วยลดโอกาสซิลิโคนหมุนจนทำให้หน้าอกผิดรูปได้
ผิวซิลิโคน
ผิวของซิลิโคนเสริมหน้าอกมี 2 แบบ คือ ซิลิโคนเสริมหน้าอกผิวทราย (Texture) และซิลิโคนเสริมหน้าอกผิวเรียบ (Smooth) นอกไปจากนี้ยังมีการพัฒนาซิลิโคนที่มีคุณสมบัติอยู่ระหว่างแบบผิวเรียบและผิวทราย คือ ซิลิโคนแบบ Nanotexture ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม สำหรับซิลิโคนผิวทรายมีข้อดีคือ เกาะติดกับเนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบได้ดีกว่า ซิลิโคนไม่ไหลลงด้านล่าง ไม่ทำให้นมตก (bottoming out deformity) และช่วยลดโอกาสการเกิดพังผืดรัดเต้านม (Capsular contracture) แต่เนื่องจากในปัจจุบันพบว่าซิลิโคนผิวทรายมีโอกาสทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เรียกว่า ALCL (Anaplastic Large Cell Lymphoma) จึงทำให้ได้รับความนิยมน้อยลง ส่วนซิลิโคนผิวเรียบก็มีโอกาสไหลลงหรือทำให้นมตกได้จึงต้องอาศัยเทคนิคพิเศษในการผ่าตัดร่วมกับการวางซิลิโคนเสริมหน้าอกไว้ใต้ชั้นกล้ามเนื้อ Submuscular หรือวางเหนือกล้ามเนื้อแบบ Subfascia เพื่อช่วยลดปัญหาซิลิโคนไหลลงและป้องกันการเกิดพังผืดรัดเต้านม
ขนาดของซิลิโคน
การเลือกขนาดซิลิโคนเสริมหน้าอกเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของการสร้างทรงหน้าอกที่สวยงาม อกเต่งตึงอย่างเป็นธรรมชาติ อ้างอิงจากผลการศึกษาของคุณหมอ Tebbets ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข้อเสนอสำหรับการเลือกขนาดซิลิโคนเสริมหน้าอกอย่างเหมาะสม ดังนี้
- ประเมินความกว้างของเต้านม

โดยวัดระยะจากเต้านมด้านในสุดจนถึงด้านนอกสุดซึ่งโดยทั่วไปแล้วความกว้างของฐานซิลิโคนเสริมหน้าอกควรเท่ากับหรือน้อยกว่าความกว้างของเต้านมไม่เกิน 1 cm. ส่วนความสูงของซิลิโคนจะต้องอยู่ต่ำกว่าเส้นระหว่างรักแร้ประมาณ 2 cm. จึงจะทำให้ซิลิโคนหนุนเนื้อเต้านมได้พอดีและหน้าอกสวยดูเป็นธรรมชาติ นอกไปจากนี้ยังมีปริมาตร (cc) ให้เลือกอีกหลายขนาดตั้งแต่ 200-500 cc ขึ้นอยู่กับระดับความพุ่งของซิลิโคน (Profile) ที่ต้องการ โดยส่วนใหญ่จะนิยมเลือกระดับความพุ่งปานกลาง (Moderate plus profile) ที่มีปริมาตร 300 cc และความพุ่งมาก (High profile) ปริมาตร 375 cc
- ประเมินความยืดหยุ่นของเนื้อเต้านม

หลังจากประเมินความกว้างของเต้านมเสร็จเรียบร้อยแล้ว สิ่งถัดไปคือการประเมินความยืดหยุ่นของเนื้อเต้านม โดยวัดได้จากการยืดเนื้อเต้านมมาทางด้านหน้า หากยืดได้มากกว่า 3 cm. แปลว่าเนื้อเต้านมยืดได้ดีและควรเลือกซิลิโคนค่อนไปทางใหญ่เพื่อเสริมให้เต้านมดูเต่งตึงขึ้นได้อย่างสวยงาม แต่ถ้าหากยืดเนื้อเต้านมได้น้อยกว่า 2 cm. แปลว่าเนื้อเต้านมขยายได้น้อยจึงควรเลือกซิลิโคนเสริมหน้าอกค่อนไปทางเล็กเพื่อไม่ให้หน้าอกตึงมากจนดูผิดธรรมชาติ และช่วยป้องกันปัญหาซิลิโคนกดเนื้อนมจนอกฝ่อได้ในระยะยาว
- การยืดของผิวหนัง

ขั้นตอนสุดท้ายสำหรับการเลือกซิลิโคนเสริมหน้าอก คือ การตรวจความยืดของผิวหนัง โดยวัดระยะจากหัวนมถึงฐานเต้านมเมื่อยืดออกจนสุด ในกรณีที่ยืดได้มากกว่า 9.5 cm. แสดงว่าผิวหนังยืดได้มากจึงควรเลือกซิลิโคนค่อนไปทางใหญ่ แต่ถ้าผิวหนังยืดได้น้อยควรเลือกซิลิโคนเสริมหน้าอกขนาดเล็กเพื่อป้องกันไม่ให้ซิลิโคนกดผิวหนังจนบางและหน้าอกเป็นคลื่นริ้ว (Rippling) หรือมีรอยแตกลายเหมือนหน้าอกของคนท้อง
นอกไปจากการเลือกขนาดซิลิโคนเสริมหน้าอกจากทั้ง 3 ปัจจัยเหล่านี้ยังมีปัจจัยแยกย่อยอื่นๆ ที่ควรพิจารณาร่วมด้วย เช่น ระดับความสูงของเนินหน้าอก ขนาดร่องระหว่างเต้านมทั้งสองข้าง ตลอดไปจนถึงตำแหน่งของหัวนมและปานนม ซึ่งประเด็นเหล่านี้นับเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องอาศัยทักษะประสบการณ์ของแพทย์ผู้ผ่าตัดเป็นอย่างมาก โดยแพทย์จะต้องสอบถามความต้องการของคนไข้อย่างละเอียดและประเมินว่าโครงสร้างเต้านมเดิมสามารถรับซิลิโคนได้เท่าไหร่ แล้วตัดสินใจเลือกซิลิโคนเสริมหน้าอกที่มีความเหมาะสมร่วมกับคนไข้ เพื่อสร้างผลลัพธ์หน้าอกที่สวยงามตรงใจ มีความปลอดภัยมากกว่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
เปลี่ยนซิลิโคนหน้าอกต้องทำอย่างไร? มีวิธีไหนบ้าง
หลังจากการเสริมหน้าอกไปแล้วคนไข้บางรายอาจรู้สึกไม่พอใจกับผลลัพธ์ที่ได้ หรือมีปัญหากับซิลิโคนเสริมหน้าอกที่อยู่ภายในร่างกายทำให้รูปทรงของหน้าอกที่เสริมไปดูไม่สวยงามดังเดิม หากใครที่กำลังประสบปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ต้องเป็นกังวลใจไปครับเพราะเราสามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนซิลิโคนเพื่อปรับรูปทรงหน้าอกให้กลับมาสวยงามได้ตรงตามความต้องการอีกครั้ง ในส่วนนี้หมอจะขอพูดถึงสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ต้องเปลี่ยนซิลิโคนเสริมหน้าอกและ 4 ทางเลือกสำหรับการเปลี่ยนซิลิโคนเสริมหน้าอกอย่างปลอดภัยครับ
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องเปลี่ยนซิลิโคนเสริมหน้าอก
ถึงแม้ว่าการเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนสามารถสร้างผลลัพธ์ได้แบบกึ่งถาวร หลังเสริมหน้าอกไปแล้วอาจอยู่ได้นานถึง 20 ปี แต่อย่างไรก็ตามอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการเสริมหน้าอกจนทำให้ต้องเปลี่ยนซิลิโคนใหม่หรือถอดซิลิโคนออก โดยมีสาเหตุสำคัญที่พบได้บ่อยดังนี้
- ซิลิโคนเสริมหน้าอกเสื่อมสภาพ ซิลิโคนแตก รั่วหรือซึม
- เกิดพังผืดรัดรอบเต้านม (Capsular contracture) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย โดยในระยะรุนแรงอาจทำให้เต้านมผิดรูป เต้านมเบี้ยวและเต้านมทั้งสองข้างมีขนาดไม่เท่ากัน
- ซิลิโคนเคลื่อนออกจากตำแหน่ง ทั้งที่เกิดจากวางซิลิโคนเสริมหน้าอกไว้ผิดชั้น ผิดตำแหน่งหรือจาก capsule ที่ดึงรั้งเนื้อเยื่อจนเปลี่ยนตำแหน่งไปรวมถึงการเสื่อมสภาพของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อโดยรอบเมื่ออายุเพิ่มขึ้นทำให้ซิลิโคนเคลื่อนหรือไหลลง
4 ทางเลือกสำหรับการเปลี่ยนซิลิโคนเสริมหน้าอกอย่างปลอดภัย ได้หน้าอกทรงสวย
เมื่อคนไข้มีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนหรือถอดซิลิโคนเสริมหน้าอกออก แพทย์จะทำการตรวจสอบขั้นต้นเพื่อดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไรและประเมินเต้านมว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ ผิวหนังมีความยืดหยุ่นมากน้อยเพียงใด เนื้อเต้านมหนาหรือบาง ขนาดเต้านมทั้งสองข้างเท่ากันหรือไม่ รวมถึงการสอบถามขนาดและรูปทรงของเต้านมใหม่ที่คนไข้ต้องการแล้วจึงเริ่มวางแผนแก้ไขด้วยเทคนิควิธีที่เหมาะสมเพื่อทำให้หน้าอกของคนไข้กลับมาสวยงามได้อีกครั้ง โดยการเลือกใช้ทางเลือกเหล่านี้
ถอดซิลิโคนออกอย่างเดียว

ทางเลือกนี้เหมาะกับคนไข้ที่ไม่ต้องการใส่ซิลิโคนเสริมหน้าอกอีกต่อไป หรือในกรณีที่เกิดการติดเชื้อหลังการเสริมหน้าอกและต้องถอดพักเพื่อรอให้หายติดเชื้อแล้วจึงกลับมาเสริมหน้าอกใหม่อีกครั้ง ข้อดีคือเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยและปลอดภัย แต่ข้อเสียคือหน้าอกจะดูเล็กลงมาก รูปทรงหน้าอกแฟบและเหี่ยวลง ช่วงเนินหน้าอกด้านบนจะหายไปอย่างชัดเจน แต่โดยทั่วไปแล้วเต้านมที่เหลืออยู่สามารถหดตัวกลับได้เองประมาณ 15-20% ในเวลา 3 เดือน หากเต้านมกลับเข้าที่ไม่ดีพอสามารถแก้ไขได้ด้วยการยกกระชับหน้าอกและตัดหนังส่วนเกินออกได้ในภายหลัง
การเปลี่ยนซิลิโคน

วิธีนี้ได้รับความนิยมมากที่สุดเพราะช่วยทำให้หน้าให้หน้าอกได้ทรงสวย อกดูเต่งตึงอย่างเป็นธรรมชาติ เหมาะกับเคสที่มีปัญหาซิลิโคนรั่ว แตกหรือซึม รวมไปจนถึงเคสที่ซิลิโคนเคลื่อนจากตำแหน่งที่ต้องการใส่ซิลิโคนเสริมหน้าอกขนาดใกล้เคียงเดิม โดยแพทย์จะกรีดเปิดแผลเพื่อถอดซิลิโคนออก ล้างทำความสะอาดโพรงด้านในและใส่ซิลิโคนใหม่เข้าไปโดยเปลี่ยนตำแหน่งของซิลิโคนให้ไปอยู่ใต้กล้ามเนื้อเพื่อทำให้หน้าอกได้ทรงสวยงาม ช่วยลดโอกาสซิลิโคนเคลื่อนและลดการเกิดพังผืดรัดเต้านม
การเปลี่ยนซิลิโคนพร้อมยกกระชับ

เป็นวิธีเปลี่ยนซิลิโคนเสริมหน้าอกใหม่ที่คล้ายกันกับวิธีที่ 2 แต่วิธีนี้เหมาะสำหรับเคสที่มีปัญหาเต้านมหย่อนคล้อย ต้องการยกกระชับหน้าอกให้เต่งตึงมากขึ้นและมีขนาดใกล้เคียงเดิม โดยแพทย์จะผ่าตัดเพื่อนำซิลิโคนเดิมออก ล้างทำความสะอาดโพรงในหน้าอกแล้วใส่ซิลิโคนใหม่ที่มีขนาดเท่าเดิมลงไปในตำแหน่งที่เหมาะสม ข้อควรระวังสำหรับวิธีนี้คือ ไม่เหมาะกับเคสที่เต้านมหย่อนมากๆ เนื้อนมค่อนข้างบาง รวมถึงคนไข้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัดๆ หรือมีการติดเชื้อในโพรงซิลิโคนเดิมเพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาในภายหลัง
การถอดซิลิโคนเดิมออกพร้อมยกกระชับ

เป็นวิธีที่ช่วยให้เต้านมกลับมาได้รูปทรงสวยงามและไม่หย่อนคล้อยได้ในครั้งเดียว เหมาะกับเคสที่ไม่ต้องการมีซิลิโคนเสริมหน้าอกอีกต่อไปและมีปัญหาเต้านมหย่อนคล้อยร่วมด้วย โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อถอดซิลิโคนเดิมออกแล้วทำการยกกระชับหน้าอก ด้วยการตัดหนังส่วนเกินออก ปรับลดขนาดลานนมให้เล็กลงและย้ายหัวนมให้กลับขึ้นมาในตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อจัดแต่งรูปทรงหน้าอกให้เต่งตึงและดูสวยเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจไม่ตอบโจทย์สำหรับคนไข้ที่ต้องการให้มีขนาดหน้าอกเท่าเดิมเพราะเป็นการถอดซิลิโคนออกจึงทำให้เต้านมเล็กลงอย่างชัดเจน รวมไปจนถึงไม่เหมาะกับเคสที่เต้านมหย่อนคล้อยมากๆ เนื้อนมบางและคนไข้ที่สูบบุหรี่จัดหรือมีการติดเชื้อในโพรงซิลิโคนเดิม
สรุป
การเลือกใช้ซิลิโคนเสริมหน้าอกให้เหมาะสมนับเป็นปัจจัยสำคัญของการศัลยกรรมเสริมหน้าอก ช่วยทำให้หน้าอกได้ทรงสวยอย่างเป็นธรรมชาติและช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จนทำให้ต้องกลับมาผ่าตัดแก้ไขหน้าอกใหม่อีกครั้ง โดยการเลือกซิลิโคนเสริมหน้าอกอย่างเหมาะสมต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ รูปทรงของซิลิโคน ผิวซิลิโคนและขนาดของซิลิโคน (ประเมินจากความกว้างของเต้านม ความยืดหยุ่นของเนื้อเต้านมและการยืดของผิวหนัง) ซึ่งต้องสอดรับเข้ากับลักษณะโครงสร้างของเต้านมเดิมได้อย่างเหมาะสม นอกไปจากนี้ยังมีวิธีที่การเปลี่ยนซิลิโคนเสริมหน้าอกทั้งแบบที่ต้องถอดซิลิโคนออกถาวรหรือเปลี่ยนซิลิโคนใหม่พร้อมยกกระชับหน้าอก ซึ่งทั้งหมดนี้ศัลยแพทย์ตกแต่งจะวางแผนการรักษาเละเลือกซิลิโคนเสริมหน้าอกที่ใช้ร่วมกันกับคนไข้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดี หน้าอกได้ทรงสวยเป็นธรรมชาติและตอบโจทย์ความต้องการได้มากที่สุด