การเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน (Breast Augmentation) เป็นหนึ่งในศัลยกรรมความงามที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบันเพราะการมีหน้าอกที่สวยงามช่วยให้รูปร่างดูสมส่วน ทั้งยังช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจ แต่อย่างไรก็ตามการเสริมซิลิโคนซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกายอาจก่อให้เกิดปัญหาได้บางประการ เช่น ซิลิโคนแตกรั่ว หน้าอกแข็ง หรือเกิดริ้วคลื่น ซึ่งอาจส่งผลต่อรูปลักษณ์ความงามของหน้าอกและทำให้รู้สึกไม่สบายตัว บทความนี้จะอธิบายถึงสาเหตุของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับซิลิโคนเสริมหน้าอก พร้อมแนวทางป้องกันและแก้ไขอย่างละเอียด เพื่อให้คุณสามารถดูแลหน้าอกเสริมใหม่ได้อย่างถูกต้อง และตัดสินใจศัลยกรรมได้อย่างเหมาะสมมากที่สุดครับ
ซิลิโคนเสริมหน้าอกแตกรั่ว เกิดจากอะไร
ซิลิโคนเสริมหน้าอกสามารถแตกรั่วได้จากหลายปัจจัย โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการแตกรั่ว ได้แก่
- อายุการใช้งานของซิลิโคน แม้ว่าซิลิโคนเสริมหน้าอกในยุคปัจจุบันถูกพัฒนาให้มีความยืดหยุ่นตัวดีและมีความทนทานสูง แต่อย่างไรก็ตามซิลิโคนเสริมหน้าอกก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานตลอดชีวิต เมื่อเวลาผ่านไปอาจส่งผลให้โครงสร้างของซิลิโคนเริ่มเสื่อมสภาพและรั่วซึม โดยจากการศึกษาพบว่าโอกาสที่ซิลิโคนจะแตกหรือรั่วอาจเพิ่มสูงถึง 15% ภายใน 10 ปี
- แรงกระแทกจากภายนอก หรืออุบัติเหตุ เช่น การถูกกระแทกที่บริเวณหน้าอก หรือการออกกำลังกายที่ใช้แรงกดหรือแรงกระแทกมาก อาจส่งผลให้ซิลิโคนเกิดความเสียหาย ซิลิโคนผิดรูป ซิลิโคนแตกหรือรั่วได้
- พังผืดรัดเต้านม (Capsular Contracture) ในบางกรณีที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม โดยการสร้างพังผืดรอบๆ ซิลิโคนมากเกินไป ส่งผลให้เกิดแรงบีบอัด และเพิ่มโอกาสให้ซิลิโคนแตกรั่วได้ง่าย
- คุณภาพของซิลิโคน ซิลิโคนที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับการรับรองอาจมีโอกาสแตกหรือรั่วสูงกว่าซิลิโคนที่ผลิตจากวัสดุคุณภาพสูงที่ได้รับการรับรองโดย FDA หรือหน่วยงานทางการแพทย์อื่นๆ

รู้ได้อย่างไรว่าซิลิโคนเสริมหน้าอก แตกรั่ว
อาการของซิลิโคนแตกรั่วอาจไม่ปรากฏในทันที โดยเฉพาะซิลิโคนรุ่นที่ใช้ในปัจจุบันที่มีความหนืดสูง และยึดเกาะตัวกันได้ดีทำให้ของเหลวไม่ไหลออกมาง่ายๆ อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบางอย่างที่อาจบ่งบอกได้ว่าซิลิโคนเสริมหน้าอกแตก รั่ว ดังนี้
- ขนาดหรือรูปทรงของหน้าอกเปลี่ยนไป หน้าอกข้างใดข้างหนึ่งอาจยุบตัวลง หรือดูผิดปกติเมื่อเทียบกับอีกข้าง ในกรณีที่ใส่ถุงน้ำเกลือหากเกิดการแตก รั่ว จะทำให้หน้าอกค่อยๆ เล็กลง หรืออกแฟบลงอย่างรวดเร็ว
- คลำพบก้อนแข็ง เนื่องจากร่างกายพยายามสร้างพังผืดเพื่อห่อหุ้มซิลิโคนที่รั่วออกมา
- รู้สึกเจ็บหรือไม่สบายที่เต้านม มีอาการปวดตึงผิดปกติ หรือเกิดการอักเสบ ติดเชื้อในเต้านม
- หน้าอกคืนตัวได้ช้าหลังเมื่อกด กดแล้วยุบนานกว่าปกติ มักพบบ่อยได้ในกรณีที่เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน
หากสังเกตพบความผิดปกติเหล่านี้หลังการเสริมหน้าอกควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาการรั่วหรือแตกของซิลิโคนด้วยวิธีต่างๆ เช่น การตรวจเบื้องต้นด้วย Ultrasound (US) การตรวจ Mammogram และการทำ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำเนื่องจากมีความแม่นยำสูงถึง 90%

วิธีแก้ไขซิลิโคนเสริมหน้าอกแตกรั่ว
หากได้รับการวินิจฉัยว่าซิลิโคนแตก รั่ว แพทย์จะแนะนำแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยแบ่งออกเป็น 3 ทางเลือกหลัก ได้แก่
- การเฝ้าสังเกตอาการ หากซิลิโคนแตกรั่วแต่ยังคงอยู่ในโพรงเต้านมเดิม (Intracapsular Rupture) และไม่มีอาการผิดปกติรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้เฝ้าสังเกตอาการโดยไม่ต้องผ่าตัดทันที เนื่องจากปัญหาซิลิโคนแตกรั่วไม่มีผลต่อการเกิดเนื้องอก มะเร็งหรือปฏิกิริยาต่างๆ กับร่างกายมากนัก อย่างไรก็ตามแนวทางนี้ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากผู้เข้ารับบริการมักรู้สึกไม่สบายใจและต้องการแก้ไขปัญหาทันที
- การผ่าตัดแก้ไขเอาซิลิโคนออก เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดนำซิลิโคนที่แตกรั่วออกแล้วใส่ซิลิโคนใหม่ตามความต้องการของผู้เข้ารับบริการ และหากพบว่ามีก้อนซิลิโคนกระจายไปที่อื่น เช่น ใต้รักแร้หรือบริเวณรอบๆ เต้านม แพทย์จำเป็นต้องเลาะออกเพื่อลดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบ
- การเปลี่ยนซิลิโคนใหม่ ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการคงรูปร่างหน้าอกไว้ สามารถเลือกเปลี่ยนซิลิโคนใหม่ได้ โดยอาจพิจารณาเปลี่ยนเป็นซิลิโคนที่มี Cohesive Gel สูง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการแตกรั่ว และแพทย์อาจแนะนำให้ปรับตำแหน่งการวางซิลิโคนจากการวางเหนือกล้ามเนื้อไปไว้ใต้กล้ามเนื้อเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำในอนาคต

หน้าอกแข็ง หลังเสริมซิลิโคนเกิดจากอะไร?
ภาวะหน้าอกแข็งหลังเสริมซิลิโคน หรือที่เรียกว่า พังผืดรัดเต้านม (Capsular Contracture) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อถุงซิลิโคน โดยปกติแล้วร่างกายจะสร้างพังผืดบางๆ ขึ้นรอบถุงซิลิโคนเพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอม แต่ในบางกรณีพังผืดเหล่านี้อาจหนาตัวขึ้นและรัดแน่นจนทำให้หน้าอกแข็งผิดปกติ ส่งผลให้เต้านมดูผิดรูปและมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย จากการศึกษาพบว่าปัญหาหน้าอกแข็งจากพังผืดรัดเต้านมมีอัตราการเกิดตั้งแต่ 0.5-30% ขึ้นอยู่กับแต่ละงานวิจัย โดยส่วนใหญ่มักเกิดภายในปีแรกและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ใส่ซิลิโคน
สาเหตุที่ทำให้เกิดพังผืดรัดเต้านม ได้แก่
- การติดเชื้อหลังผ่าตัด แม้ว่าจะเป็นเพียงการติดเชื้อระดับต่ำ ก็อาจกระตุ้นให้ร่างกายสร้างพังผืดมากจนผิดปกติ
- เลือดคั่งหรือของเหลวสะสมรอบซิลิโคน การผ่าตัดที่มีเลือดออกมาก เนื้อเยื่อได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างและหยุดเลือดได้ไม่ดี อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพังผืดหนาตัวได้
- ตำแหน่งของซิลิโคน ซิลิโคนที่วางเหนือกล้ามเนื้อมีโอกาสเกิดพังผืดมากกว่าซิลิโคนที่วางใต้กล้ามเนื้อ
- ชนิดของซิลิโคน ซิลิโคนผิวเรียบมีความเสี่ยงต่อการเกิดพังผืดมากกว่าซิลิโคนผิวทรายโดยเฉพาะในกรณีที่วางซิลิโคนเหนือกล้ามเนื้อ
- ตำแหน่งแผลผ่าตัด การเปิดแผลผ่าตัดทางปานนมมีโอกาสทำให้เกิดพังผืดมากกว่าแผลตำแหน่งอื่น
ซิลิโคนเสริมหน้าอกแข็ง มีลักษณะอย่างไร
ภาวะพังผืดรัดเต้านมสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระดับตามความรุนแรง ได้แก่
- ระดับ 1 แบบปกติ เต้านมยังคงนิ่มและดูเป็นธรรมชาติ ไม่มีความผิดปกติใดๆ คลำซิลิโคนได้เนื้อหน้าอกปกติ
- ระดับ 2 เริ่มมีพังผืด เต้านมเริ่มรู้สึกแข็งขึ้นเล็กน้อยเมื่อลองสัมผัส แต่ยังไม่มีอาการผิดปกติ หน้าอกไม่ผิดรูป
- ระดับ 3 มีพังผืดระดับปานกลาง เต้านมแข็งขึ้นจนผิดรูป อาจเห็นเป็นก้อนและเริ่มรู้สึกแน่นตึง ทั้งนี้บางรายอาจไม่มีการเจ็บปวดใดๆ
- ระดับ 4 มีพังผืดระดับรุนแรง เต้านมแข็งผิดรูปอย่างชัดเจนและมีอาการเจ็บปวดตลอดเวลาซึ่งอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
วิธีป้องกันหน้าอกแข็ง พังผืดรัดเต้านม
เพื่อป้องกันการเกิดพังผืดรัดเต้านมหลังเสริมซิลิโคน ควรปฏิบัติตามแนวทางดังนี้
- เลือกซิลิโคนที่มีคุณภาพสูง ควรเลือกซิลิโคนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (FDA) หรือหน่วยงานทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้
- วางซิลิโคนใต้กล้ามเนื้อ ช่วยลดโอกาสเกิดพังผืดได้มากกว่าการวางเหนือกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะการเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนผิวเรียบ
- เสริมหน้าอกกับศัลยแพทย์ประสบการณ์สูง มีเทคนิคการผ่าตัดที่นุ่มนวล เพื่อลดความเสียหายของเนื้อเยื่อและลดการสูญเสียเลือดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงป้องกันภาวะเลือดคั่งและการคั่งของน้ำเหลืองซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดพังผืด
- ดูแลแผลผ่าตัดให้สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อที่อาจกระตุ้นให้เกิดพังผืด
- นวดหน้าอกหลังผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดพังผืด อย่างไรก็ตามการนวดหน้าอกเพื่อลดพังผืดยังเป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันในวงการแพทย์ยุคปัจจุบัน
- รับประทานยาที่ช่วยลดพังผืด แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยา Montelukast หรือ Singulair ซึ่งช่วยลดการเกิดพังผืดได้ แต่ต้องติดตามผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด
- เข้ารับการตรวจติดตามผลกับแพทย์เป็นระยะ เพื่อตรวจดูอาการผิดปกติ และรักษาได้ทันท่วงทีหากมีพังผืดที่ผิดปกติเกิดขึ้น
วิธีแก้ไขปัญหาซิลิโคนเสริมหน้าอกแข็ง พังผืดรัดเต้านม
- การผ่าตัดเลาะพังผืดออก หากพังผืดไม่หนามาก สามารถเลือกผ่าตัดขยายพังผืดออกบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้ปอดได้รับความเสียหาย ในกรณีที่พังผืดหนามากหรือมีหินปูนเกาะจนทำให้หน้าอกแข็งผิดรูป (หน้าอกแข็งระดับ 3-4) อาจมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเลาะพังผืดออกให้มากที่สุดเพื่อให้หน้าอกดูเป็นธรรมชาติและป้องกันการเกิดพังผืดซ้ำในอนาคต
- การเปลี่ยนตำแหน่งการวางซิลิโคน ในกรณีที่วางซิลิโคนเหนือกล้ามเนื้อแพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนไปวางซิลิโคนใต้กล้ามเนื้อเพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดพังผืด แต่หากวางซิลิโคนใต้กล้ามเนื้ออยู่แล้วสามารถใช้ตำแหน่งเดิม เนื่องจากการเปลี่ยนไปวางเหนือกล้ามเนื้ออาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดพังผืดมากขึ้น
- การเปลี่ยนซิลิโคนใหม่ จากการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนซิลิโคนใหม่ช่วยลดพังผืดได้ดีกว่าการใช้ซิลิโคนคู่เดิม
ดังนั้น แนวทางการรักษาพังผืดหน้าอกที่แนะนำคือ การเลาะเอาพังผืดออกให้มากที่สุดโดยไม่สร้างความเสียหายให้กับปอด และเปลี่ยนไปใช้ซิลิโคนคู่ใหม่ร่วมกับการใช้เทคนิควางซิลิโคนเสริมหน้าอกใต้กล้ามเนื้อเพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดพังผืดรัดเต้านมซ้ำในอนาคต

ซิลิโคนเสริมหน้าอกเป็นริ้ว เป็นคลื่น เกิดจากอะไร
ภาวะซิลิโคนเสริมหน้าอกเป็นริ้ว มีรอยคลื่น หรือที่เรียกว่า Rippling เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย โดยมีอัตราการเกิดประมาณ 10% ในกลุ่มที่เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน สังเกตได้จากลอนคลื่นที่บริเวณด้านข้างของเต้านมและช่วงเนินอก สามารถแบ่งสาเหตุของการเกิด Rippling ออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่
1. คุณภาพของเนื้อเยื่อที่คลุมซิลิโคน โดยพบมากในผู้ที่มีผิวหนังบางหรือปริมาณเนื้อเยื่อน้อย ได้แก่
- คนผอม (BMI < 18.5) มีโอกาสเกิด rippling สูงถึง 11% โดยเฉพาะเมื่อวางซิลิโคนเหนือกล้ามเนื้อ ในขณะที่ผู้ที่มี BMI > 25 แทบไม่พบปัญหา Rippling เลย
- ผู้ที่มีหน้าอกหย่อนคล้อยจากการลดน้ำหนักตัว หรือหลังคลอด อาจเกิด Rippling ได้มากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณเนินอกด้านบนและร่องอก
- ตำแหน่งการวางซิลิโคน การวางซิลิโคนเหนือกล้ามเนื้อมีความเสี่ยงต่อ Rippling มากกว่าการวางใต้กล้ามเนื้อซึ่งมีกล้ามเนื้อช่วยปกปิดซิลิโคน แต่อย่างไรก็ตาม Rippling ที่บริเวณเต้านมด้านล่างและด้านนอกอาจเกิดขึ้นได้ง่ายไม่ว่าซิลิโคนจะอยู่เหนือหรือใต้กล้ามเนื้อ
- อีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ ผู้ที่เสริมหน้าอกหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านมเนื่องจากมีเนื้อเยื่อเต้านมเหลือน้อย ทำให้ซิลิโคนมีโอกาสเกิด Rippling ได้ง่ายกว่าปกติ
2. ชนิดของซิลิโคน จากการศึกษาพบว่าถุงน้ำเกลือมีโอกาสเกิด Rippling มากกว่าซิลิโคนจึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ส่วนซิลิโคนที่มี Cohesive Gel ต่ำ หรือมีเนื้อเจลที่เหลวมากเกินไป มีโอกาสเกิดริ้วคลื่นสูงกว่าซิลิโคนที่มีความหนืดมาก รวมถึงซิลิโคนผิวเรียบอาจเกิดริ้วคลื่นได้มากกว่าซิลิโคนผิวทรายเนื่องจากยึดติดกับเนื้อเยื่อได้น้อยกว่า
ระดับของปัญหาซิลิโคนเสริมหน้าอกเป็นริ้ว เป็นคลื่น
ภาวะซิลิโคนเสริมหน้าอกเป็นริ้วคลื่น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามความรุนแรงของปัญหา ได้แก่
- ระดับ 1 Rippling น้อย สามารถคลำพบรอยคลื่นได้ด้วยมือ แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ภาวะนี้พบได้บ่อยและโดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเนื่องจากไม่ส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอกหรือความรู้สึกไม่สบายตัวของผู้เข้ารับการ
- ระดับ 2 Rippling ปานกลาง สามารถมองเห็นริ้วคลื่นได้เมื่อก้มตัว หรือโน้มตัวมาด้านหน้า
- ระดับ 3 Rippling รุนแรง สามารถมองเห็นรอยคลื่นได้ชัดเจนตลอดเวลา แม้อยู่ในท่าปกติ และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

วิธีแก้ไขซิลิโคนเสริมหน้าอกเป็นริ้ว เป็นคลื่น
หากเกิดภาวะ Rippling หรือริ้วคลื่นบนผิวเต้านมหลังการเสริมหน้าอก สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการต่างๆ ตามระดับความรุนแรงของปัญหา ดังนี้
- เปลี่ยนตำแหน่งการวางซิลิโคน หากซิลิโคนถูกวางไว้เหนือกล้ามเนื้ออาจพิจารณาย้ายไปวางใต้กล้ามเนื้อเพื่อให้มีกล้ามเนื้อปิดคลุมซิลิโคนเพิ่มอีกหนึ่งชั้น ทำให้เนื้อหน้าอกหนาขึ้น ลดโอกาสการมองเห็นริ้วคลื่น
- ฉีดไขมันเสริมบริเวณเต้านม (Fat Grafting) การเติมไขมันด้วยเซลล์ไขมันของตนเองช่วยเพิ่มความหนาของชั้นเนื้อเยื่อบริเวณเต้านม ช่วยลดความชัดของริ้วคลื่นและทำให้ทรวงอกดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น
- ใช้ผิวหนังเทียม หรือ ADM (Acellular Dermal Matrix) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับที่ใช้เสริมจมูก โดยนำมาคลุมรอบซิลิโคนเพื่อช่วยเพิ่มความหนาให้กับผิวเต้านม ลดการมองเห็นริ้วคลื่นและช่วยให้เต้านมดูเรียบเนียนขึ้น
- ใช้ซิลิโคนที่มี Cohesive Gel สูงขึ้น การใช้ซิลิโคนที่มีเนื้อเจลหนืดมากขึ้นช่วยลดโอกาสเกิดริ้วคลื่น เนื่องจากซิลิโคนชนิดนี้มีความคงรูปดี ลดการเกิดรอยพับ นอกจากนี้ การเปลี่ยนจากซิลิโคนผิวทรายมาเป็นแบบผิวเรียบก็สามารถช่วยลดปัญหาริ้วคลื่นที่เต้านมได้เช่นกัน
สรุป
แม้ว่าการเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนจะช่วยเพิ่มความมั่นใจและทำให้รูปร่างดูสมส่วนขึ้น แต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้บางประการ เช่น ซิลิโคนแตกรั่ว พังผืดรัดเต้านม (Capsular Contracture) และภาวะซิลิโคนเป็นริ้วคลื่น (Rippling) ซึ่งแต่ละปัญหามีสาเหตุและแนวทางแก้ไขที่แตกต่างกัน เพื่อให้การเสริมหน้าอกได้ผลลัพธ์ที่ดี ควรเลือกซิลิโคนที่ได้มาตรฐาน ปรึกษาศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดอย่างเคร่งครัด หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินและแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม